โรงเรียนไทยสอนเพศศึกษาผิดวิธี! ยูนิเซฟชี้ วัยรุ่นไทยขาดความรู้ด้านเพศศึกษา หญิงท้องมีอัตราสูงอันดับสองของอาเซียน
การสอนเพศวิถีศึกษา สอนแบบบรรยาย แทนการจัดกิจกรรมให้เด็กคิด วิเคราะห์และตั้งคำถามเชิงลึก และควรมีการปฏิบัติร่วมด้วยหรือไม่?
ผลวิจัยยูนิเซฟ- ม.มหิดล เผยโรงเรียนไทยสอนเพศศึกษาไม่รอบด้าน เน้นสอนสรีระ พัฒนาการทางเพศ ปลูกฝังเด็กเลี่ยงมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน ส่งผลเด็กไทยขาดทักษะจัดการเรื่องเพศ ไม่เห็นด้วยกับความเท่าเทียมทางเพศ สิทธิ ความเสมอภาค ความหลากหลายทางเพศ แต่ยอมรับได้กับความรุนแรงในครอบครัว
รายงานผลการวิจัยเพื่อทบทวนการสอนเพศวิถีในสถานศึกษาไทย สำรวจข้อมูลนักเรียนมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา 8,837 คน และครู 692 คนในโรงเรียนมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา 398 แห่ง ช่วงเดือน ก.ย. 2558 ถึงเดือน มี.ค.2559 ชี้อีกว่า การสอนเพศศึกษาไม่ให้ความสำคัญเรื่องการเคารพสิทธิของผู้อื่น ส่งผลนักเรียนจำนวนมากมีทัศนคติเชิงลบ ไม่เห็นด้วยกับความเท่าเทียมกันทางเพศและสิทธิทางเพศ และยอมรับความรุนแรงในครอบครัวในบางกรณี
สะท้อนจากผลวิจัย ร้อยละ 41 ของนักเรียนชายอาชีวะที่สำรวจ มีทัศนคติที่เป็นปัญหาเรื่องเพศภาวะ เพศวิถี โดยเชื่อว่าสามีมีสิทธิ์ทุบตีภรรยาได้หากพบว่าภรรยาไม่ซื่อสัตย์ ขณะที่ นักเรียนชายชั้น ม.1-3 ประมาณครึ่งหนึ่ง เชื่อว่าการมีความสัมพันธ์ทางเพศกับเพศเดียวกันเป็นสิ่งผิด
รายงานที่จัดทำโดยศูนย์นโยบายสาธารณสุข ม.มหิดล องค์การยูนิเซฟและความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ยังเปิดเผยผลวิจัยที่น่าสนใจอีกว่า สถานศึกษาไทยแทบทุกแห่งสอนเพศวิถีศึกษาไม่รอบด้าน เน้นสอนสรีระ พัฒนาการทางเพศ การหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน และการป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์
นอกจากนี้ ยังพบว่าครูเกินครึ่งหนึ่งไม่ได้รับการอบรมการสอนเพศวิถีศึกษา ทำให้มักใช้วิธีสอนแบบบรรยาย แทนการจัดกิจกรรมให้เด็กคิด วิเคราะห์และตั้งคำถามเชิงลึก
นางวาเลรี ตาตอน รองผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า "การที่โรงเรียนแทบทุกแห่งในประเทศไทยมีการสอนเพศศึกษาถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่ในขณะเดียวกัน การที่นักเรียนจำนวนมากยังขาดทักษะที่จำเป็นในการมีสุขภาวะทางเพศยังคงเป็นสิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่ง"
พร้อมระบุว่าการจะลดการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น หรือลดจำนวนโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในกลุ่มเยาวชน ต้องช่วยให้เด็กรู้จักตนเองและมีทักษะที่จำเป็น ตลอดจนมีความมั่นใจในการตัดสินใจที่ถูกต้องต่อวิถีทางเพศของพวกเขา
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้ได้ให้ข้อเสนอแนะให้สถานศึกษาสอนเพศวิถีศึกษา โดยเน้นกระบวนการเรียนรู้ให้ผู้เรียนสามารถคิดวิเคราะห์ ตั้งคำถามและแสดงความคิดเห็น พร้อมเสนอให้เพิ่มเวลาสอนวิชานี้ ร่วมกับการจัดอบรมครูที่สอนเรื่องเหล่านี้ในชั้นเรียน
http://www.nationmultimedia.com/news/breakingnews/30316812












