หน้าแรก ตรวจหวย เว็บบอร์ด ควิซ Pic Post แชร์ลิ้ง หาเพื่อน Chat หาเพื่อน Line Page อัลบั้ม คำคม Glitter เกมถอดรหัสภาพ คำนวณ การเงิน ราคาทองคำ กินอะไรดี
ติดต่อเว็บไซต์ลงโฆษณาลงข่าวประชาสัมพันธ์แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสมเงื่อนไขการให้บริการ
เว็บบอร์ด บอร์ดต่างๆค้นหาตั้งกระทู้

“โอ๊ย เด็กสมัยนี้”

โพสท์โดย berybad
 
 
 
 
 


“โอ๊ย เด็กสมัยนี้นะ...”  เรื่อง: คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง
   
หากนี่คือประโยคเริ่มต้นบทสนทนาของคนวัย 30 หรือ 40 ปีขึ้นไป เชื่อได้เลยว่าสิ่งที่ตามมาคือการพร่ำบ่นยาวเหยียดถึงเด็กรุ่นใหม่ หรือที่เรียกกันว่าเด็กรุ่นเจนวายหรือเจนซี บ้างก็บ่นลูกหลานตัวเอง บ้างก็ระบายความเหนื่อยใจถึงลูกน้อง บ้างก็กล่าวรวมถึงวัยรุ่นยุคนี้ ประเด็นการบ่นมีตั้งแต่ลักษณะนิสัย การแสดงออก ไปจนถึงการใช้ชีวิต ยิ่งถ้าจับกลุ่มคุยกันเป็นหมู่คณะรับรองได้ว่า การเม้ามอยจะยาวเป็นชั่วโมง และคำว่า ‘เด็กสมัยนี้’ จะถูกเอ่ยขึ้นมาไม่ต่ำกว่ายี่สิบครั้ง
   
ทว่าหากลองลดทอนความหงุดหงิดลง แล้วมองแบบถอยห่างออกมาสักหน่อย เราจะพบว่าโดยมากแล้วฝ่ายผู้ใหญ่มักมีมุมมองต่อคนรุ่นใหม่แบบแนวดิ่ง มองบนลงล่าง คิดว่าตัวเองอยู่เหนือกว่า หรือความคิดความเชื่อของตัวเองถูกกว่า พฤติกรรมหรือการกระทำต่างๆ ของเจนวายที่ต่างจากสิ่งตัวเองคุ้นชินถูกเหมารวมว่าเป็น ‘ปัญหา’ ไปเสียหมด โดยที่เราไม่ได้เว้นช่องว่างไว้คิดเลยว่า มันอาจมองได้อีกแบบว่าเป็น ‘ความแตกต่าง’ หรือ ‘ยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง’ หรือกระทั่งการลองไตร่ตรองว่าทำไม หรือเพราะอะไรเจนวายถึงมีลักษณะแบบนั้น
   
ในฐานะอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัยที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับเจนวายอยู่ทุกวี่ทุกวัน ผมเลยขอเล่าสู่กันฟังเกี่ยวกับ ‘ปัญญาคลาสสิก’ ของเด็กรุ่นใหม่ที่พวกผู้ใหญ่ชอบบ่นกัน แต่ทั้งนี้ขอบอกไว้ก่อนว่า มันอาจไม่ได้ทำให้คุณผู้อ่านเข้าใจเจนวายอย่างกระจ่างแจ้ง (เพราะผู้เขียนเองก็อาจยังไปไม่ถึงจุดนั้น) แต่อย่างน้อยมันก็อาจช่วยให้คุณพูดประโยคว่า “โอ๊ย เด็กสมัยนี้” น้อยลงบ้าง :)

   
ปัญหา 1 : เป็น(โรค)ซึมเศร้ากันหมด   
เพื่อนของผู้เขียนมักถามอยู่บ่อยๆ ว่าเด็กเดี๋ยวนี้เป็นอะไรกัน ทำไมถึงเป็นโรคซึมเศร้ากันเยอะมาก บ้างก็สงสัยนี่ป่วยกันจริงไหม บางคนก็ถึงขั้นบอกว่านี่มันเป็นเทรนด์หรือแฟชั่นอะไรหรือเปล่า 
   
ก่อนอื่นเราต้องแยก ‘โรคซึมเศร้า’ กับ ‘ช่วงจิตตก’ ให้ได้ก่อน
โรคซึมเศร้า - ชื่อก็บอกแล้วว่าเป็นโรค วินิจฉัยกันมาแล้วว่าเกิดจากสารเคมีในสมองไม่สมดุล อันที่จริงโรคซึมเศร้ามีมาตั้งนานแล้ว แต่สมัยนี้เริ่มพูดถึงในวงกว้างมากขึ้นด้วยยุคที่เปลี่ยนไป แต่ก่อนคนไม่กล้ายอมรับว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้าเพราะกลัวถูกมองว่าเป็นบ้า แต่เดี๋ยวนี้โรคซึมเศร้าคือโรคชนิดหนึ่ง เหมือนไข้หวัด เหมือนภูมิแพ้ คนเรากล้ายอมรับมากขึ้นว่าตัวเองเป็นโรคนี้ สังคมเลยได้รับรู้ถึงโรคนี้มากขึ้น
   
ส่วนอีกกรณีคือ ‘ช่วงจิตตก’ คือมาเป็นช่วง ไม่ได้เป็นถาวร อาจจะหายไปเอง เป็นช่วงที่อยู่ดีๆ ก็รู้สึกหมดกำลังเรี่ยวแรงในชีวิต ไม่อยากไปเรียน ไม่อยากทำงาน รู้สึกเบื่อต่อทุกสิ่งรอบข้าง ความน่ากลัวคือน้องๆ หลายคนพอจิตตกขึ้นมาก็ตีขลุมไปเลยว่า ฉันต้องเป็นโรคซึมเศร้าแน่ ประกอบกับเดี๋ยวนี้ชอบมีแบบทดสอบทางอินเทอร์เน็ตประเภทว่าคุณเป็นโรคซึมเศร้าหรือเปล่า ซึ่งหลายอันไม่ว่าจะตอบอะไรไป มันก็จะขึ้นว่ามีแนวโน้มเป็นโรคซึมเศร้าอยู่เรื่อย จนอาจารย์ต้องคอยเตือนนักศึกษาว่าคนที่บอกได้ว่าหนูเป็นหรือไม่เป็นโรคซึมเศร้าคือจิตแพทย์จ้ะ ไม่ใช่การนั่งทำแบบทดสอบทางเน็ตหรืออ่านเฟซบุ๊ก หรือถ้าจิตตกเป็นเวลานาน ไม่หายสักที อันนี้ก็ควรไปหาหมอ
   
อันที่จริงอาการจิตตกใครๆ ก็เป็น อย่างคนทำงานก็ต้องเผชิญวิกฤติวัยกลางคน แต่ถ้าถามว่าทำไมเจนวายถึงมีอาการจิตตกกันง่าย ก็คงเป็นเพราะคนรุ่นนี้มีเวลา ‘อยู่กับตัวเอง’ มากขึ้น คือถ้าเป็นเด็กรุ่นเจนเอ็กซ์ ทางเลือกในชีวิตมีไม่มาก เลิกเรียนก็ไปเตะบอลกับเพื่อน หรือกลับไปฟังวิทยุที่บ้าน แต่เด็กรุ่นนี้สามารถอยู่ในห้องคนเดียวแล้วทำกิจกรรมได้สารพัด ทั้งดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม แชท ไลฟ์เฟซบุ๊ก ขอแค่มีแล็ปท็อปหรือสมาร์ทโฟนสักเครื่องก็พอ
   
ทีนี้พออยู่กับตัวเองมากเข้า ก็เริ่มคิดใคร่ครวญชีวิตไปเรื่อยๆ แต่บางครั้งทิศทางการคิดมันไม่ได้ไปข้างหน้าทำนองว่าชีวิตนี้อยากทำอะไรบ้างหรือเรียนจบแล้วจะทำอะไร แต่กลายเป็นการคิดวนเวียนไปมา ว่าทำไมถึงเลือกเรียนคณะนี้นะ คิดผิดชัดๆ อยากซิ่ว แต่พ่อแม่ต้องไม่ยอมแน่เลย หรือเรื่องประเภททำไมไม่มีแฟนสักที นกตลอด โดนเททั้งชาติ ไปถึงขั้นเรื่องคนเราเกิดมาทำไม ฯลฯ
   
อีกสาเหตุของการจิตตกง่าย คือโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็ว เช่น ข่าวดราม่าที่มาใหม่ทุกวัน หรือคลิปไวรัลที่ฮิตได้สองวันก็เลิกแล้ว กระแสโลกที่ไหลเร็วแบบหน้านิวส์ฟีดทำให้เจนวายไม่ลงรอยกับสภาวะที่ต้องอยู่แน่นิ่งไปนานๆ ซึ่งการเรียนมหาวิทยาลัยสี่ปีนั่นแหละคือสภาวะที่ว่า (โดยเฉพาะคนที่เลือกคณะผิดหรือเรียนตามใจพ่อแม่) พอใช้ชีวิตซ้ำซากไปเรื่อยๆ ก็เกิดความท้อแท้ใจว่าชีวิตคนเรามันมีแค่นี้เหรอ (วะ)
   
นี่เองเป็นที่มาว่า นักศึกษาจำนวนมากทำไมถึงดูเซื่องซึมตลอดการเรียน จนอาจารย์เรียกว่า ‘เด็กซอมบี้’ แต่ทั้งนี้ก็เป็นภารกิจอย่างหนึ่งของอาจารย์ที่ต้องปลุกซอมบี้ให้ตื่น วิธีที่เรามักจะแนะนำกันก็คือ DON’T THINK. JUST DO! หมายถึงว่าอย่ามัวแค่คิด แต่ให้เทกแอ็กชั่น ออกไปทำอะไรสักอย่าง เคยเจอเด็กบางคนคิดว่าตัวเองอยากเป็นช่างภาพ แต่วันๆ เอาแต่นั่งหาเรเฟอร์เรนซ์ในเน็ต อาจารย์เลยต้องพูดบิลด์ให้ออกไปถ่ายรูป ถ่ายต้นไม้ถ่ายเพื่อนในมหาวิทยาลัยก็ได้ (แต่ถ้าไม่มีเงินซื้อกล้องนี่ อาจารย์ช่วยอะไรไม่ได้จริงๆ)


ปัญหา 2 : สื่อสารไม่ได้
เคยมีมุกตลกในหมู่เพื่อนของผู้เขียนว่า ในการพิจารณารับเด็กฝึกงานของบริษัท ให้ดูจากการใช้คำว่า ‘คะ’ กับ ‘ค่ะ’ ถ้าใครเขียนผิดมาให้ตกรอบทันที ผลกลายเป็นว่าปีนั้นบริษัทไม่มีเด็กฝึกงานเพราะทุกคนเขียนผิดหมด (โธ่ถัง)
   
เหมือนจะกลายเป็นเรื่องปกติแล้ว ถ้ายุคนี้เจอเด็กรุ่นใหม่เขียนมาทำนองว่า “ขอความกรุณาด้วยนะค่ะ” หรือเด็กเอกฟิล์มที่เขียนคำว่า ‘ภาพยนตร์’ ผิด ก็มีอยู่เรื่อย แม่ของผู้เขียนเคยถามว่าเดี๋ยวนี้เด็กๆ เขาไม่ต้องเรียนภาษาไทยกันแล้วหรือ คำตอบคือก็ยังเรียนกันอยู่เหมือนเดิมนั่นแหละ เอ แล้วทำไมเด็กยุคนี้ถึงเขียนภาษาไทยไม่ค่อยถูกกันนะ
   
คำตอบอาจมีสองประการด้วยกัน หนึ่ง - เด็กเจนวายอ่านหนังสือกันน้อยลง เราต้องยอมรับกันแล้วว่าการอ่านหนังสือไม่ใช่หนึ่งในกิจกรรมหลักของเด็กยุคนี้แล้ว โลกยุคนี้หล่อหลอมด้วยวัฒนธรรมที่เป็นภาพ พวกเขาชอบที่จะ ‘ดู’ มากกว่า ‘อ่าน’ คุ้นชินกับ ‘ภาพเคลื่อนไหว’ มากกว่า ‘ตัวหนังสือ’ ซึ่งนี่อาจไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป
   
สอง - คนรุ่นใหม่ไม่ได้เคร่งครัดกับความถูกต้องทางหลักภาษามากนัก ด้วยความเคยชินกับการสื่อสารทางเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์ที่พิมพ์ผิดก็ไม่มีใครมาแก้ไขอะไร ดังนั้นการจะให้เจนวายเขียนหนังสือถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์คงเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ (ขนาดเจนเอ็กซ์ยังงงเลยว่าภาษาไทยบางคำเขียนอย่างไรกันแน่) ในระดับมหาวิทยาลัยจึงเน้นเรื่องสำคัญ เช่น จดหมายสมัครงานหรือจดหมายแนะนำตัว อีกทั้งเราต้องยอมรับว่าภาษาเป็นสิ่งที่ลื่นไหลไม่ตายตัว โลกอนาคตที่คนไม่พูดควบกล้ำ ร.เรือ ล.ลิง อีกต่อไปแบบในนิยายเรื่องชิทแตก! ของปราบดา หยุ่น อาจมาถึงในเร็ววัน
   
อย่างไรก็ดี ความไม่เคร่งของเจนวาย บางทีก็อาจจะหย่อนยานไปหน่อย บางครั้งผมถูกนักศึกษาทักมาทางเฟซบุ๊กว่า “จารย์ อยู่ป่าว” (!) หรือเพื่อนผมสอนภาคอินเตอร์ฯ ก็เจออีเมลมาว่า “Hello Ajarn” (!!) ซึ่งหลายครั้งเด็กๆ ไม่ได้ตั้งใจจะยียวนพวกเรา แต่เขาไม่รู้จริงๆ ว่าการสื่อสารแบบทางการควรทำอย่างไร อันนี้ก็ต้องตักเตือนกันไป
   
แต่ประเด็นที่หนักกว่าการเขียนผิดหรือไม่ถูกกาลเทศะคือเรื่องที่เจนวายไม่สามารถสื่อสารความคิดของตัวเองออกมาได้ เห็นได้จากการเขียนข้อสอบอัตนัยหรือจดหมายแนะนำตัว รุ่นพี่ของผู้เขียนที่เป็นอาจารย์ที่ประเทศอังกฤษเล่าว่ามหาวิทยาลัยที่นั่น จะมีสถาบันภาษาคอยช่วยเด็กที่ทักษะการเขียนหรืออ่านไม่ดีพอ แต่ของไทย คือถ้าอยู่มหาวิทยาลัยแล้วยังเขียนไม่ดี ก็รับศูนย์คะแนนไป เหมือนเป็นการฆ่าตัดตอนนักศึกษาอย่างกลายๆ
   
หรือเพื่อนอีกคนที่เปิดบริษัทโปรดักชั่นเฮ้าส์ก็เคยมาบ่นว่า ทำไมเด็กที่มาสมัครไม่สามารถพูดความคิด/ไอเดียของตัวเองออกมาได้เลย การพูดทุกอย่างดูเป็นห้วงสั้นๆ เหมือนสเตตัสเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์ ผู้เขียนก็บอกให้เพื่อนใจเย็นๆ และลองพิจารณาที่ผลงานของเด็กดูก่อน หลายครั้งพบว่าเด็กที่พูดงงๆ เนี่ย มักทำงานได้ดี จึงย้ำนักศึกษาเสมอว่าตัวผลงานแท้จริงหรือพอร์ตโฟลิโอนั้นสำคัญมาก
   
จะว่าไปเรื่องนี้ก็เกี่ยวโยงกับเรื่องวัฒนธรรมภาพที่กล่าวไปข้างต้นเหมือนกันครับ อย่างตัวผมที่สอนสาขาภาพยนตร์ พบหลายครั้งมากที่เด็กเขียนบทมาเป็นตัวหนังสือ (Screenplay) ไม่รู้เรื่องเลย แต่ปรากฏว่าตัวหนังจริงออกมาดีมาก ภายหลังก็ต้องลองปรับรูปแบบการส่งงาน เช่นว่านอกจากตัวบทแบบตัวหนังสือแล้ว ก็ให้วาดสตอรี่บอร์ดเป็นภาพแนบมา หรือลองถ่ายภาพนิ่งประกอบมาเลย
    
สรุปแล้ว บางทีเจนเอ็กซ์ก็ต้องเป็นฝ่ายลองปรับการสื่อสารเหมือนกัน


ปัญหา 3 : ติดโซเชียล
ยุคนี้ใครๆ ก็ติดโซเชียลมีเดียกันทั้งนั้นแหละครับ เชื่อว่าทุกคนต้องเจอสถานการณ์ญาติผู้ใหญ่แอดเฟซบุ๊กมา หรือต้องมานั่งสอนพ่อแม่ตัวเองเล่นไลน์ แต่มันจะต่างออกไปตรงที่พวกผู้ใหญ่มักใช้โซเชียลในการสื่อสารกัน (แม้บางครั้งจะเป็นการส่งรูปดอกไม้หรือสูตรยาแก้มะเร็งมั่วๆ ก็เถอะ) แต่สำหรับเจนวายแล้ว โซเชียลถือเป็นพื้นที่แสดง ‘ตัวตน’ ของพวกเขา
คนวัย 30+ ก็ใช้โซเชียลแสดงตัวตนด้วยการโพสต์รูปไปเที่ยวต่างประเทศเก๋ๆ ส่วนเจนวายที่อาจจะไม่มีโอกาสไปท่องโลกกว้าง ก็พยายามเล่าเรื่องราวชีวิตด้วยการโพสต์ภาพอาหาร เซลฟี่ตัวเองกับกระจกห้องน้ำห้างหรู กลายเป็นยุคสมัยที่คนรุ่นใหม่ ‘เปิดเผย’ (Expose) ตัวเองต่อสาธารณะอย่างมาก ซึ่งก็กลายเป็นประเด็นเรื่องความปลอดภัย เช่น เด็กสาวหน้าตาสะสวยเช็กอินสถานที่ที่เธอไปตลอดเวลา หารู้ไม่ว่านี่คือข้อมูลชั้นดีของผู้ไม่ประสงค์ดีที่เฝ้าสะกดรอยตามเธอ

นอกจากนั้นเจนวายหลายคนตั้งค่าสเตตัสเป็นแบบสาธารณะ (Public) มีทั้งแบบที่ไม่รู้วิธีเปลี่ยนค่าและแบบที่จงใจ เข้าไปอ่านก็ได้รู้ถึงชีวิตของเจ้าตัวแบบหมดไส้หมดพุง แต่ความประหลาดคือ บางทีนักศึกษาตั้งสเตตัสก่นด่าอาจารย์ก็เป็นสถานะแบบพับลิกซะงั้น (หรือจงใจให้เราเห็นก็ไม่รู้) ปัญหาเกิดขึ้นคือบางบริษัทพิจารณาคนเข้าทำงานด้วยการไปส่องเฟซบุ๊กของผู้สมัคร ซึ่งที่จริงผมก็ไม่เห็นด้วยนัก เพราะมีความเชื่อว่าตัวตนในโลกโซเชียลกับตัวตนในโลกความเป็นจริง บางครั้งมันก็ไม่ได้แนบสนิทกัน

อีกเรื่องที่น่าสนใจคือ โซเชียลมีเดียทำให้ทุกคนสามารถมีสื่อของตัวเองได้ ทั้งการอัพภาพในอินสตาแกรม หรือล่าสุดก็เป็นการไลฟ์ทางเฟซบุ๊ก ‘สื่อ’ ที่ผลิตออกมาตอนนี้จึงมีคอนเทนต์หลากหลายไปถึงขั้นสะเปะสะปะ บางคนก็เอาตัวเข้าแลกด้วยการไลฟ์คลิปวาบหวิว (แต่อาจโฆษณาสินค้าไปด้วย น่าจะรวยกว่าอาจารย์อีก) บางคนไลฟ์ตัวเองตอนนอน (!?) หรือเทอมล่าสุดก็เจอนักศึกษาเป็นเน็ตไอดอลไลฟ์เฟซบุ๊กไปเรียนไป แต่ที่ใช้ในทางสร้างสรรค์ก็มีบ้าง เช่น ไลฟ์เฟซบุ๊กติวหนังสือกับเพื่อนๆ

ในเมื่อโซเชียลมีเดียกลายเป็นปัจจัยหลักของชีวิต พวกอาจารย์ก็ต้องปรับตัวกัน โดยปกติแล้วทางมหาวิทยาลัยจะมีเว็บไซต์ให้เราใช้สื่อสารกับเด็ก ทว่าส่วนใหญ่ล้วนเทอะทะใช้งานยาก แถมนักศึกษาก็ไม่ค่อยสนใจหรอก อาจารย์เลยต้องปรับกลยุทธ์สร้างกรุ๊ปเฟซบุ๊กเพื่ออัพโหลดพาวเวอร์พอยต์หรือแจ้งกำหนดการเรียนต่างๆ หรือเวลามีประกาศสำคัญก็ไปประกาศในทวิตเตอร์ เพราะเจนวายจะนิยมเล่นทวิตเตอร์มากกว่าเฟซบุ๊ก การสั่งการบ้านแนววิเคราะห์สื่อก็ต้องเข้ายุค 4.0 หมดสมัยแล้วกับการตัดข่าวจากกรอบหนังสือพิมพ์มานำเสนอหน้าชั้น แต่ต้องเปลี่ยนให้เป็นการเอาคลิปไวรัลมาถกเถียงกัน

ทั้งนี้ อาจารย์ไม่สามารถไปควบคุมการใช้โซเชียลมีเดียของนักศึกษาได้ แต่จากการไปแอบสอดรู้ส่องเฟซบุ๊กของพวกเขา บางครั้งก็กลุ้มใจหนัก เพราะคอนเทนต์ที่เด็กเสพมักจะวนเวียนอยู่กับเพจดราม่า เพจคลิปฉาว รีวิวเครื่องสำอาง หรือการแชร์คาถาได้แฟน (อืม...) เลยต้องใช้วิธีบอกแกมบังคับให้นักศึกษากดไลค์เพจที่มีสาระประโยชน์ หรือเพจรายงานข่าวที่มีหลักฐานเชื่อถือได้ ส่วนจะอ่านหรือไม่อ่านก็แล้วแต่นักศึกษาแล้วล่ะ


ปัญหา 4 : เรื่องแค่นี้ต้องบอกด้วยเหรอ
สำหรับหัวข้อนี้ผมมี 3 สถานการณ์มาแชร์ให้ฟังครับ
1. ผมสอนหนังสือมาหลายปี 70 เปอร์เซ็นต์ของนักศึกษาที่ส่งงานเกินหนึ่งแผ่น ไม่เคยเย็บแม็กซ์มาให้ผมเลย ผมต้องมานั่งเย็บเอง เหตุผลของนักศึกษาคือ เขาไม่มีที่เย็บกระดาษเป็นของตัวเอง หรืออีก 40 เปอร์เซ็นต์มักส่งงานมาด้วยกระดาษไซส์ประมาณโพสต์อิท
   
2. มีอยู่เทอมหนึ่ง ผมสั่งท้ายคาบว่ามีการบ้านให้ทำเป็น ‘งานกลุ่ม’ ตอนเลิกเรียนนักศึกษาก็เดินมาถามว่า “งานกลุ่มให้ทำส่งแบบกลุ่มหนึ่งส่งแค่ชิ้นเดียว หรือทุกคนในกลุ่มทำคนละชิ้น” (!!??) อันนี้เล่นเอาผมอึ้งไปสามวินาทีเต็ม
   
3. เพื่อนผมที่เป็นผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง เคยเจอเด็กเข้ามาถามว่า “เมื่อไหร่หนังพี่จะอัพลงยูทูบสักทีล่ะคะ”
   
สามเรื่องที่ว่าไป อาจฟังดูเหลือเชื่อจนเหลือทนใช่ไหมครับ แต่ทั้งหมดคือเรื่องที่เกิดขึ้นจริง และเป็นเรื่องประเภทที่ผมต้องประสบอยู่แทบทุกวัน ถามว่าเจนวายจงใจกวนประสาทหรือมีจุดประสงค์มุ่งร้ายหรือเปล่า ก็ต้องตอบว่าไม่เลย แต่พวกเขาทำสิ่งเหล่านั้นด้วยความเคยชินหรือความไม่รู้จริงๆ
   
ผมขอขยายความจากเรื่องที่สามแล้วกันนะครับ เชื่อไหมครับว่าแม้นักศึกษาเอกฟิล์มยุคนี้แทบไม่ได้ดูหนังในโรงภาพยนตร์กันแล้ว แต่พวกเขาดูทางออนไลน์ ซึ่งไม่ใช่เว็บสตรีมมิ่งแบบถูกกฎหมายด้วย แต่เป็นการดูผ่านพวกคลิปที่อัพกันเถื่อนๆ ในยูทูบหรือเว็บออนไลน์ทั้งหลาย ซึ่งพวกเขาดูหนังแบบนี้จนเคยชิน และไม่รู้ว่านั่นคือสิ่งที่ผิดกฎหมาย บางคนอาจสงสัยว่า อ้าว เขาก็เถียงกันเรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์กันอยู่ปาวๆ ไม่ใช่หรือ ก็ต้องบอกว่าเรื่องเหล่านี้อาจไม่ได้อยู่ในความสนใจของเจนวายบางคนนั่นเอง
   
ถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะเริ่มรู้สึกว่าทำไมเจนวายบางคนถึงโลกแคบ ไม่สนใจโลกภายนอก หรือเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางขนาดนี้หนอ ผมคิดว่าเรื่องทำนองนี้ คงต้องมองเป็นเรื่องความต่างทางยุคสมัยหรือวัฒนธรรมต่างรุ่นแล้วล่ะครับ อาจมองเหมือนเรื่องประเภท เราอาจไม่รู้มาก่อนว่าคนอเมริกันใส่รองเท้าเดินในบ้านหรือคนอินเดียใช้มือกินข้าว ฟังดูแล้วอาจรู้สึกว่าทำไมเจนเอ็กซ์กับเจนวาย มันถึงเหมือนคนละโลกกันเลย แต่นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงครับ ดังนั้นถ้าเขาไม่รู้หรือเราคิดว่าเขาควรรู้ ก็ควรบอกกันดีๆ ก่อนก็ได้ครับ
   
ทีนี้ปัญหาคือบางเรื่องที่เจนวายไม่รู้ บางทีมันก็ช่างน่าเหลือเชื่อ (อย่างเช่นเรื่องส่งงานในข้อหนึ่ง) มันก็เลยเป็นประเด็นในยุคนี้ว่า เจนวายบางคนขาด ‘คอมมอนเซนส์’ หรือ ‘ทักษะในการใช้ชีวิตประจำวัน’ ซึ่งจากประสบการณ์ของผม เด็กกลุ่ม ‘มีสติ’ กับ ‘ไม่มีสติ’ มักแบ่งกลุ่มขาดกันอย่างชัดเจน จึงเห็นได้ว่า สังคมเพื่อนในมหาวิทยาลัยมีผลมาก เพราะลักษณะของคนไทยไม่ค่อยยึดมั่นในปัจเจกบุคคลเท่าไร เรามักเป็นแนวไหลๆ ไปตามเพื่อนพ้อง
   
ผมเคยคิดเล่นๆ กับเพื่อนอาจารย์ด้วยกันว่า บางทีมหาวิทยาลัยอาจจะต้องมีการสอนวิชา Common Sense 101 ด้วยซ้ำ ไล่ตั้งแต่การเขียนอีเมล การสื่อสารกับอาจารย์ทางเฟซบุ๊ก การส่งงานที่ถูกต้อง การเขียนจดหมายลาป่วย ลากิจ ฯลฯ อาจตกใจกันว่า เรื่องพวกนี้มันต้องสอนด้วยหรือ แต่ถ้าเขาไม่รู้จริงๆ มันก็คงต้องถึงเวลาสอนแล้วล่ะครับ



บทสรุป : การอยู่ร่วมกับเจนวาย
ผมเดาได้เลยว่าผู้อ่านบางคนอ่านบทความนี้ อาจจะไม่ค่อยถูกใจนักที่ทำไมเราต้องประนีประนอมหรือ ‘โอ๋’ เด็กรุ่นใหม่กันขนาดนี้ ขนาดผมเป็นคนเขียนบทความนี้เองยังรู้สึกเลย (ฮา) แต่ผมขอเปลี่ยนเป็นคำว่า ‘พยายามทำความเข้าใจ’ เพื่อที่ ‘จะอยู่ร่วมกันได้’ ดีกว่าครับ

เราหนีการอยู่ร่วมสังคมกับเจนวายไม่ได้หรอกครับ อย่างผม ถ้าทำงานเป็นอาจารย์ก็ต้องเผชิญกับคนรุ่นใหม่ต่อไป ใครที่เปิดบริษัทหรือเป็นเจ้าคนนายคนก็ต้องมีลูกน้องเป็นเด็กจบใหม่ หรือเจนวายบางคนก็เก่งกาจจนมาเป็นเจ้านายเราหรือคนที่เราต้องดีลงานด้วย หรือเอาให้ถึงที่สุด น้องหรือหลานของเราตอนนี้ก็คือเจนวายหรือเจนซีกันทั้งนั้น

อย่าลืมนะครับว่า เจนเอ็กซ์อย่างเราๆ เนี่ย ใช้ชีวิตกันมาครึ่งค่อนชีวิตแล้ว อีกไม่กี่สิบปี เราก็คงจากโลกนี้ไปแล้วล่ะครับ เป็นพวกเด็กเจนวายและเจนซีต่างหาก ที่จะมีลมหายใจอยู่ในประเทศนี้ โลกนี้ต่อไป ดังนั้นก็คงไม่มีประโยชน์ที่คอยตั้งแง่ชิงชังเด็กรุ่นใหม่ต่างๆ นานา

ต้องระลึกอยู่เสมอนะครับว่า เราล้วนเคยถูกข้อหาว่า “เฮ้อ เด็กสมัยนี้” เหมือนกัน อย่างรุ่นเจนวายอาจต้องถูกบ่นเรื่องติดโซเชียล รุ่นเราก็ถูกคุณพ่อคุณแม่บ่นเรื่องคุยโทรศัพท์(บ้าน)นาน หรือเรื่องซื้อเทปนักร้องแกรมมี่อาร์เอสเป็นตั้ง เอาเข้าจริงแล้ว การปะทะด้วยความแตกต่างทางเจเนอเรชั่น มันก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเสมอ เป็นวงจรที่วนลูปมาเรื่อยๆ

ไม่มีใครชอบถูกเหมารวมโดยไม่เต็มใจหรอกครับ ผมว่าปัญหาสำคัญอีกประการของเรื่องเจนวาย คือเราพยายามจำแนกลักษณะต่างๆ ของพวกเขาเป็นข้อๆ (ไอ้ที่มีประจำก็พวก ไม่มีความอดทน เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง และอีกมากมาย) แต่บางทีก็ลืมนึกถึงความหลากหลายแบบปัจเจกบุคคลไป ไม่ใช่เจนวายทุกคนจะต้องเป็นแบบนั้นเสียหน่อย (แม้ว่าหลายคนจะเป็นจริงๆ ก็เถอะ) ที่จริงแล้ว บทความชิ้นนี้ก็เข้าข่ายเช่นนั้นเหมือนกันครับ

ตอนนี้เลยกลายเป็นว่า คำว่าเจนวายกลายเป็นคำแง่ลบ เป็นกลุ่มคนที่มีปัญหา มีลักษณะว่าคนรุ่นก่อนกดทับและมองเหยียดเจนวาย ซึ่งมันทำให้ฝั่งคนรุ่นใหม่รู้สึกต่อต้าน แทนที่เขาจะเอาเวลาไปพัฒนาตัวเอง ค้นหาตัวเอง กลับต้องมาถูกบั่นทอนด้วยการถูกตราหน้าว่าไม่ดีแบบนั้นแบบนี้จากคนรุ่นก่อน ผมว่าแบบนี้ในระยะยาวไม่ส่งผลดีครับ

เพราะเอาจริงแล้ว น้องๆ เขาก็อาจจะกำลังบ่นว่า “เฮ้อ ผู้ใหญ่สมัยนี้” อยู่ในใจก็ได้


⚠ แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสม 
berybad's profile


โพสท์โดย: berybad
เป็นกำลังใจให้เจ้าของกระทู้โดยการ VOTE และ SHARE
8 VOTES (4/5 จาก 2 คน)
VOTED: todaysayhi, zerotype
Hot Topic ที่น่าสนใจอื่นๆ
จากเด็กขี้อายสู่พระเอกดาวรุ่ง! "สมิธ ภาสวิชญ์" เปิดใจชีวิตที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบติ๊กต๊อกเกอร์ชื่อดังของไทย ถูกแก๊งค์เหงียนตัดมือขาดบริษัทที่ใหญ่ที่สุด มีมูลค่าสูงที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทยเมื่อผ้าเหลืองถูกทำให้เปื้อน เราจะยังกราบพระด้วยใจบริสุทธิ์ได้อยู่อีกไหม?ญี่ปุ่นมีจริง บริการ “เช่าคนชรา” จะเหงา จะขาดคุณตาคุณยาย ก็จ้างได้!เลขเด็ด "แม่จำเนียรล็อตเตอรี่" มาแล้ว! งวดวันที่ 16 กรกฎาคม 68..คอหวยส่องด่วน!วัดเขาบังเหยชุมพลสีมาราม เทพสถิตชัยภูมิเปิดเผยรายชื่อ พระผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับสีกากอล์ฟที่ยังไม่ลาสิกขา"กินโกโก้" มีประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย“ถึงเวลาแล้วหรือยัง... ที่คนไทยรุ่นใหม่ควรได้เรียน ‘วิชาวิพากษ์’ บนโลกออนไลน์” (กรณีศึกษา: เสียงพากย์ Superman – จากคำติ สู่การด่าจิกหัว)อำเภอเดียวของจังหวัดในภาคกลาง ที่มีพื้นที่อยู่ติดกับต่างประเทศอีลอน มัสก์ ประกาศตั้ง “America Party” เขย่าการเมืองสหรัฐฯ
Hot Topic ที่มีผู้ตอบล่าสุด
อำเภอเดียวในประเทศไทย ที่มีจำนวนประชากรมากกว่า 5 แสนคนเลขเด็ด "แม่จำเนียรล็อตเตอรี่" มาแล้ว! งวดวันที่ 16 กรกฎาคม 68..คอหวยส่องด่วน!
กระทู้อื่นๆในบอร์ด ข่าววันนี้
ผู้นำเกาหลีเหนือยัน "เราพร้อมสนับสนุนรัสเซียเต็มที่!!"หนูน้อย 3 ขวบไหว้กันดั้ม ความน่ารักที่สร้างรอยยิ้มและกระแสไวรัลญี่ปุ่นมีจริง บริการ “เช่าคนชรา” จะเหงา จะขาดคุณตาคุณยาย ก็จ้างได้!อีลอน มัสก์ ประกาศตั้ง “America Party” เขย่าการเมืองสหรัฐฯ
ตั้งกระทู้ใหม่