“รถไฟแยกเพศของอินเดีย” แก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศได้จริงหรือ?
ที่กรุงนิวเดลี เมืองหลวงของประเทศอินเดีย มีการแยกตู้โดยสารรถไฟสำหรับผู้โดยสารหญิงโดยเฉพาะ โดยให้เหตุผลว่า ทำให้ผู้หญิงได้หลีกเลี่ยงกลิ่นเหงื่อสุดเหม็นของผู้ชายในวันที่อากาศร้อนอบอ้าว เลี่ยงการถูกแอบถ่ายรูปร่องอกจากด้านบน และเหตุผลที่สำคัญประการหนึ่งก็คือ "เพื่อหลีกเลี่ยงเหตุข่มขืน" ซึ่งเกิดขึ้นในกรุงนิวเดลีบ่อยครั้ง จนทำให้เดลีถูกเรียกว่าเป็น “เมืองแห่งการข่มขืน” เห็นได้จากจำนวนคดีข่มขืนเมื่อปีที่แล้วที่มีมากถึง 1,400 คดี ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่อินเดียกำลังเผชิญในปัจจุบัน
จากข้อมูลของ Delhi Metro Railway Corporation ชี้ให้เห็นว่า ร้อยละ 25 ของผู้โดยสารรถไฟใต้ดินในแต่ละวันหรือคิดเป็นจำนวนประมาณ 5 ล้านคนเป็นผู้หญิง ในขณะที่ตู้โดยสารสำหรับผู้หญิงมีเพียงแค่ 1 ตู้เท่านั้นจากทั้งหมด 8 ตู้
ผู้เขียนซึ่งเป็นนักข่าวหญิงชาวอเมริกันที่ทำงานประจำอยู่ในกรุงนิวเดลี ได้ลองสัมผัสการนั่งรถสาธารณะในอินเดีย และพบว่าการแยกพื้นที่สำหรับผู้หญิงเช่นนี้ในนิวเดลี ไม่เพียงแต่เป็นการบั่นทอนเสรีภาพแต่เมื่อมองในระยะยาวแล้ว ยังเป็นวิธีการปกป้องผู้หญิงที่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงอีกด้วย
ถึงแม้ว่าอินเดียจะปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย แต่ก็มักจะเจอปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศ ซึ่งผู้เขียนคิดว่าการที่อินเดียแยกตู้โดยสารตามเพศจะยิ่งเป็นการสร้างความเชื่อแบบผิดๆ ว่าหญิงชายควรจะแยกกันเพื่อความปลอดภัยของผู้หญิง รวมถึงความเชื่อว่าผู้ชายไม่สามารถควบคุมอารมณ์ทางเพศของตัวเองได้
เมื่อสามปีก่อน มีผู้หญิงคนหนึ่งถูกล่วงละเมิดทางเพศบนรถไฟใต้ดิน ชาวอินเดียจึงเขียนจดหมายคำร้อง “ขอให้ยกเลิกการเลือกปฏิบัติ” โดยระบุว่า “โดยปกติจะมีผู้ชายมาบอกผู้หญิงว่าตู้โดยสารนี้ไม่ต้อนรับพวกเธอ ต้องไปตู้โดยสารสำหรับพวกเธอโดยเฉพาะ ซึ่งความคิดแบบนี้ได้ฝังลงไปในสมองของชาวอินเดียแล้ว ดังนั้นคนส่วนใหญ่จึงมองว่าตู้โดยสารธรรมดาเป็นตู้โดยสารสำหรับผู้ชายไปเสียแล้ว”
ถึงแม้ว่าจะฟังดูไม่มีปัญหาอย่างใด แต่มีอยู่วันหนึ่งที่ผู้เขียนกำลังนั่งรถไฟใต้ดินไปประชุมด้วยความเร่งรีบ ขณะที่กำลังก้าวเข้าตู้โดยสารธรรมดาสำหรับทั้งผู้ชายและผู้หญิง ปรากฏว่าตนเองกลายเป็นจุดสนใจของผู้ชาย ทำให้ผู้เขียนอึดอัดจากสายตาทุกคู่ที่จับจ้องมาที่ตนเอง จนรู้สึกกลัวและไม่ปลอดภัย
ผู้หญิงมีสิทธิ์ได้เลือกตู้โดยสารด้วยตนเอง ไม่ควรจะมีผู้หญิงคนไหนกลายเป็นผู้เสียสละ มีเพื่อนคนหนึ่งที่เพิ่งย้ายเข้ามาทำงานในกรุงนิวเดลีเล่าว่า พวกเธอรู้สึกอึดอัด เพราะทางกลับบ้านนั้นก็ต้องคอยหลบสายตาที่จับจ้องมองมาที่พวกเธอ ซึ่งฉันเองก็เข้าใจความรู้สึกพวกเธอเป็นอย่างดี
(ผู้เขียน Ankita Rao จาก Quartz India)













