งานวิจัยสแตนฟอร์ดชี้ AI มองหน้าแล้วระบุเพศสภาพได้แม่นยำกว่ามนุษย์
หวังอี้ลุ่นและมิเชล โคซินสกีจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดเผยว่า ด้วยการวิเคราะห์รูปภาพใบหน้ามนุษย์ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) มี “เรดาร์” ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่ามนุษย์มากทีเดียว
งานวิจัยชิ้นนี้ตีพิมพ์ลงในวารสารจิตวิทยาบุคลิกภาพและสังคม (Journal of Personality and Social Psychology) เปิดเผยว่า จากการ “ดู” ภาพจำนวน 130,741 ภาพจากอาสาสมัครซึ่งให้ข้อมูลเพศสภาพของตนเองไว้ ปัญญาประดิษฐ์สามารถแยกระหว่างผู้ชายที่เป็น “รักร่วมเพศ” และ “รักเพศตรงข้าม” ได้ด้วยความแม่นยำ 81%
เปรียบเทียบจากความแม่นยำในการแยกแยะของมนุษย์ซึ่งอยู่ที่ 61% ปัญญาประดิษฐ์ถือว่าทำได้ดีกว่ามาก โดยเฉพาะเมื่อมันได้รับภาพถ่ายใบหน้ามนุษย์คนหนึ่ง 5 ใบ ก็จะทำได้ดีกว่าการอนุมานจากภาพเดียว
นอกจากนี้งานวิจัยยังชี้ว่า ปัญญาประดิษฐ์ประสบความสำเร็จ 91% ในการแยกแยะเพศสภาพของผู้หญิง ในขณะที่มนุษย์ทำได้เพียง 83%
การค้นพบนี้อาจมองได้ว่าเป็นแรงสนับสนุนชั้นดีของทฤษฎีที่ว่า เพศสภาพของมนุษย์จะได้รับผลกระทบจากการสัมผัสกับฮอร์โมนหลากหลายชนิดก่อนที่จะเกิด และเป็นการนำไปสู่การพัฒนาความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการรับรู้ของมนุษย์
อย่างไรก็ดี นักวิจัยทั้งสองท่านก็ได้เตือนถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้จากการวิจัยนี้
“บริษัทต่างๆ และรัฐบาลต่างใช้คอมพิวเตอร์วิชันอัลกอริทึม ในการตรวจจับความสัมพันธ์ใกล้ชิดของผู้คนมากยิ่งขึ้น การค้นพบของเราอาจอันตรายต่อความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยต่อชายและหญิงที่เป็นรักร่วมเพศ”
ในความเห็นของพวกเขา สิทธิของคนรักร่วมเพศอาจโดนคุกคามเมื่อเทคโนโลยีการใช้ปัญญาประดิษฐ์ระบุเพศสภาพถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบางประเทศที่อนุรักษนิยมมากๆ











