โบราณสอนเด็ก!! สพฐ.สั่งตรวจสอบ หนังสือเรียนสุขศึกษาแนวคิดหัวโบราณ สร้างทัศนคติผิดๆ เหยียดเพศที่สาม
ผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งได้โพสต์เผยแพร่ภาพหนังสือเรียนวิชาสุขศึกษาในระดับชั้นต่างๆ โดยหนังสือดังกล่าวมีเนื้อหาสร้างทัศนคติทางเพศที่ผิด ตัวอย่างเช่น
หนังสือเรียนสุขศึกษาและพละศึกษา ป.4 ระบุคุณค่าความเป็นเพศหญิงว่า การทำงานบ้านเป็นการปฏิบัติตนที่มีคุณค่าของเพศหญิง ไม่คลุกคลีใกล้ชิดกับเพศชาย ไม่เลียนแบบพฤติกรรมของเพศชาย ส่วนการช่วยเหลือผู้สูงอายุเป็นการปฏิบัติตนที่มีคุณค่าของทางเพศชาย
หนังสือสุขศึกษา ม.4 ระบุค่านิยมทางเพศว่า ผู้หญิงไม่ควรแสดงความต้องการทางเพศแม้เมื่อสมรสแล้ว และกล่าวถึงการคบเพื่อนว่า หากคบเพื่อนที่มีพฤติกรรมไม่ถูกต้อง เช่น ชอบเที่ยวกลางคืน มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศ ผลที่ได้รับจะทำให้เกิดความเดือดร้อนและไม่มีอนาคต
หนังสือสุขศึกษา ม.5 กล่าวถึงปัญหาการเบี่ยงเบนทางเพศว่า เป็นปัญหาหนึ่งที่พบได้ในทั้งเพศหญิงและเพศชาย โดยบุคคลอาจแสดงออกถึงพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม เช่น ผู้ที่มีพฤติกรรมเป็นเกย์ เลสเบี้ยน เป็นต้น ทำให้สังคมเกิดความรู้สึกถึงความไม่ถูกต้องตามบรรทัดฐานที่สังคมได้กำหนดไว้
นอกจากนี้ยังระบุอีกว่าในหนังสือหลายเล่มมีการสร้างความเชื่อที่ผิดต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศโดยมีผู้ใช้ทวิตเตอร์รายอื่นๆ เข้ามาแสดงความคิดเห็นไปจำนวนมาก และส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยที่มีเนื้อหาดังกล่าว บนหนังสือเรียนซึ่งเป็นแนวคิดของคนรุ่นก่อนที่สร้างความเชื่อที่ผิดเรื่องเพศ จนถึงขั้นกีดกันแบ่งแยกทางเพศโดยเฉพาะผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ
ด้านนางสาวนิจสุดา อภินันทาภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักวิชาการ และมาตรฐานการศึกษากล่าวว่า เนื้อหาในหนังสือสุขศึกษาที่ใช้อยู่เป็นการจัดทำขึ้นมาตามหลักสูตรของปี 2551 ที่เป็นการทำตามบริบทสังคมเดิม แต่ก็มีการปรับปรุงโดยรับเอาการเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเพศวิถี หรือการท้องในวัยเรียนเข้ามาในบทเรียน
ซึ่งได้มีการทำเรื่องให้ผู้ผลิตทบทวนและปรับแก้ตาม พ.ร.บ. แล้วอยู่ในระหว่างการทบทวนปรับปรุง แต่ยังไม่ถึงขั้นปรับใหม่ทั้งหมด เพราะขณะนี้อยู่ในระหว่างดำเนินการรวบรวมข้อมูลปรับปรุงให้เข้ากับสังคมปัญจุบันมากขึ้น ที่ต้องอาศัยหลายขั้นตอน
ส่วนเรื่องที่เป็นประเด็นอยู่ในขณะนี้ทาง สพฐ.ไม่ได้นิ่งนอนใจ ขอเวลาในการตรวจสอบว่าเนื้อหาดังกล่าวว่ามีอยู่ในหนังสือเล่มไหนบ้าง รวมไปถึงมีข้อบกพร่องในกระบวนการไหนด้วยทั้งจากทางของสำนักพิมพ์ ทางเอกชน และทางตัวกระทรวงเอง และต้องดูว่าหนังสือเล่มนั้นเป็นหนังสือเรียนหรือไม่ หากเป็นหนังสือคู่มือ แบบฝึกหัด ขึ้นอยู่กับทางดุลยพินิจของโรงเรียน ทาง สพฐ.ทำได้เพียงย้ำกับโรงเรียนในสังกัดให้ซื้อหนังสือเรียนที่ถูกต้อง เหมาะสม
อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับโรงเรียนแล้วครูผู้สอนด้วยว่าจะสอนเด็กอย่างไร เพราะเชื่อว่าครูสามารถเชื่อมโยง และหยิบยกข้อมูลจากแหล่งอื่นเข้ามาสอดแทรกให้เด็กได้
ขณะที่นักเรียนระดับมัธยมปลายต่างก็แสดงความคิดเห็นว่า การที่หนังสือเรียนมีเนื้อหาแบบนี้ตนไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการตีกรอบมากเกินไป และอีกอย่างในฐานะเด็ก ม.4 ตนมองว่าการที่คบเพื่อนที่เที่ยวกลางคืน หรือเพื่อนที่เบี่ยงเบนทางเพศ ไม่ได้เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้บอกได้ว่าจะทำให้เสียอนาคต กลับกันอยากให้มองถึงจิตใจของคนที่เขาเบี่ยงเบนทางเพศบ้างว่าจะรู้สึกอย่างไร เพราะการที่จะทำให้เสียคนหรือไม่มีอนาคตนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละคนซึ่งควรมองรายบุคคล















