ยิ่งทะเลาะความรักยิ่งสตรอง 5 เหตุผลที่จะทำให้รักกันมากขึ้น อยู่ด้วยกันบ่อย ก็ทะเลาะกันมากขึ้น! ทำอย่างไรดี กับความสัมพันธ์
ทำอย่างไรดี กับความสัมพันธ์เมื่อทะเลาะกัน
1.เริ่มต้นพูดคุยกันอย่างจริงใจ ในความเป็นจริง การมีข้อโต้แย้งที่เปิดโอกาสให้ต่างฝ่ายบอกความไม่พอใจ ความคับข้องใจเป็นเรื่องดี การที่เราได้รู้ว่าอีกฝ่ายไม่พอใจเรื่องอะไรบ้าง สำคัญไม่น้อยไปกว่าการได้รู้ว่าอีกฝ่ายพึงพอใจในเรื่องอะไร การพูดคุย และปรับความเข้าใจทำเพื่อให้ความสัมพันธ์แข็งแรงขึ้น
2.ทำความเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นร่วมกัน
รูปแบบของความขัดแย้งมี 4 รูปแบบ วิเคราะห์จากพฤติกรรมที่อีกฝ่ายต่างแสดงออกต่อกัน (อ้างอิงจากงานวิจัยของ เวอร์จิเนีย ซะเทียร์ Virginia Satir นักจิตวิทยาครอบครัวชาวอเมริกัน)
- ผู้ที่มีพฤติกรรมเอาใจ เมื่อเกิดข้อโต้แย้ง คนกลุ่มนี้จะเป็นผู้ยอมรับความผิดทั้งหมดไว้ แม้ตัวเองจะไม่ใช่คนผิด คำพูดติดปาก คือ “เป็นความผิดของฉันเอง” คนกลุ่มนี้จะไม่มั่นใจในคุณค่าของตัวเอง และเอาคุณค่าของตัวเองแปะไว้กับคุณภาพของความสัมพันธ์ในช่วงนั้น เมื่อเกิดข้อโต้แย้งจะไม่พูดถึงสิ่งที่ตัวเองไม่พอใจ ยอมเก็บงำเอาไว้ดีกว่าที่จะพูดถึง
- ผู้ที่มีพฤติกรรมตำหนิ เมื่อเกิดข้อโต้แย้ง คนกลุ่มนี้จะโยนความรับผิดชอบทั้งหมดไปยังอีกฝ่าย แสดงออกชัดเจนทั้ง น้ำเสียง ท่าทาง หรือคำพูด ที่ทำให้อีกฝ่ายเจ็บใจอย่างถึงที่สุด คำพูดติดปาก คือ “นี่มันเป็นความผิดของคุณ” จริง ๆ แล้วคนกลุ่มนี้รู้ถึงความผิดของตัวเอง แต่กลัวที่จะพูดถึง และใช้คำตำหนิเป็นอาวุธ เพื่อควบคุมสถานการณ์และสร้างภาพลักษณ์ให้ตัวเอง ไม่ให้คนอื่นได้มีโอกาสพูดถึงข้อเสียที่ตัวเองได้ทำไว้
- ผู้ที่มีพฤติกรรมเจ้าเหตุผลและนิสัยเย็นชา เมื่อเกิดข้อโต้แย้ง จะดึงเอาเหตุผลหลักการณ์ทุกอย่างเป็นเกราะกำบัง ปฏิเสธที่จะรับฟังความรู้สึกของอีกฝ่าย แต่ภายในใจนั้นอ่อนแอและโดดเดี่ยว จนต้องเอาหลักการณ์อื่นมาอ้างเพื่อให้ดูแข็งแรง นอกจากไม่รับฟังคนอื่นแล้วความรู้สึกของตัวเองก็ไม่อยากที่จะยอมรับด้วย
- ผู้ที่มีพฤติกรรมไม่อยู่กับร่องกับรอย เมื่อเกิดข้อโต้แย้งจะเฉไฉโวยวายไปเรื่องอื่น บางทีตลกกลบเกลื่อนไปเลยก็มี คนกลุ่มนี้มีแนวโน้มจะไม่รับผิดชอบใด ๆ ไม่คิดจะทำความเข้าใจ หรือแก้ไขในเรื่องที่เกิดขึ้น ในกลุ่มความขัดแย้งทั้งหมด คนกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะหนีปัญหา และจะไม่ร่วมรับผิดชอบใด ๆ เลย
5 เหตุผลที่ยิ่งทะเลาะจะทำให้รักกันมากขึ้น
1.ทำให้ได้นึกถึงใจเขาใจเรา การทะเลาะกันทำให้เกิดการเรียนรู้ ปรับเปลี่ยน และแก้ไขอยู่เสมอ เมื่อทะเลาะกัน ยิ่งเรียนรู้ ว่าต่างฝ่ายต่างคิดยังไงบ้าง
2.ทำให้ได้หันหน้าเข้าหากัน และช่วยกันหาวิธีแก้ไข ลองตั้งข้อสังเกตดูว่าเพราะเหตุใด จึงทะเลาะกันมากกว่าปกติ ถ้ารู้แล้ว จงหลีกเลี่ยงการปะทะคารมในช่วงนั้น ต้องช่วยกันคิดแก้ปัญหานั้นให้ได้อย่างเป็นระบบที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหานั้นเกิดซ้ำซากอีกต่อไป
3.ทำให้มั่นใจว่า ที่ทะเลาะกันอยู่ไม่ใช่การทำลายความสัมพันธ์ ลองมองการทะเลาะกันให้เป็นเรื่อง “สร้างความเข้าใจ” กัน โดยแยกแยะให้ออกว่า คือการทะเลาะกันแบบทำร้ายกัน หรือสร้างความเข้าใจให้กัน มองแบบนี้บ้าง การทะเลาะที่คิดว่า คือตัวบ่อนทำลายความสัมพันธ์จะเปลี่ยนไป
4.ทำให้ได้ฝึกควบคุมสติ และเลือกใช้คำพูด โฟกัสเรื่องที่ทะเลาะกัน และบอกความต้องของคุณ แล้วสื่อสารกันให้เข้าใจ ด้วยภาษาแบบเดียวกับที่เราเองก็อยากได้ยิน แบบนี้เรียกว่า ทะเลาะแล้วยังได้สติ ไม่บ้าคลั่งจนเผลอพูดอะไรแย่ ๆ ที่ต้องมานั่งเสียใจที่หลังออกไป
5.การทะเลาะทำให้ได้มีโอกาสทำเรื่องดี ๆ ให้กัน ความรู้สึกผิดที่สำนึกได้ หรือรู้ตัวว่าทะเลาะด้วยเรื่องไร้สาระอะไรก็ตาม จะทำให้ยิ่งได้คิด และอยากจะปฏิบัติตัวดีต่อกันมากขึ้น ทั้งการให้ความเคารพ ให้ความซื่อสัตย์ ให้ความรัก ให้ความเอาใจใส่กับความรักในทุก ๆ วัน อย่างเช่น โทรหา ทำกับข้าวให้กิน ซื้อขนมมาฝาก แม้จะไม่ใช่การทำดีแบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ แต่การค่อย ๆ เข้าใจกัน กลายเป็นผลพวงของการทะเลาะที่เสมือนเป็นจุดเริ่มต้นให้ได้ทำเรื่องดี ๆ ให้กันมากขึ้นทุกวัน






















