เชื้อราที่ขาหนีบ ขาหนีบแดง แสบคัน ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม
เชื้อราที่ขาหนีบ เป็นโรคที่มีโอกาสเป็นได้บ่อย ๆ เพราะประเทศเรามีอากาศร้อนชื้น ทำให้บริเวณใต้ร่มผ้าอย่างบริเวณขาหนีบอับชื้นได้ง่าย กลายเป็นผดผื่นแดง และ มีอาการคัน หากปล่อยไว้อาจจะลามไปยังส่วนอื่นๆ
สาเหตุที่เป็นไปได้เกิดจาก
1.การติดเชื้อรา (Tinea Cruris หรือ Jock Itch) เกิดจากเชื้อราในกลุ่ม dermatophytes มักพบในบริเวณที่มีความชื้นสูง อาการมีผื่นแดง ขอบเขตชัดเจน มีอาการแสบ คัน เป็นขุย
2.การระคายเคืองจากการเสียดสี การเสียดสีระหว่างขา หรือ เสื้อผ้าที่คับแน่น ใส่กางเกงผ้าหนา ๆ ซ้ำกันเป็นเวลาหลาย ๆ วัน เมื่อบริเวณขาหนีบเกิดความสกปรก อับชื้น หรือเหงื่อออกมาก จะมีอาการ ผิวหนังแดง ระคายเคือง และ เจ็บ
3.การแพ้ (Allergic Contact Dermatitis) การแพ้สารเคมีในผลิตภัณฑ์เช่น สบู่ ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม จะมีอาการ ผื่นแดง มีอาการคัน และแสบ
4.การติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส การติดเชื้อที่ผิวหนังที่เกิดจากแบคทีเรียหรือไวรัส อาการ ผื่นแดง อาจมีน้ำหนอง หรือมีไข้ร่วมด้วย
วิธีการรักษา
1.การติดเชื้อรา (Tinea Cruris) ใช้ยาทาฆ่าเชื้อรา เช่น ครีม Clotrimazole, Miconazole รักษาความสะอาดบริเวณที่ติดเชื้อ ทำให้บริเวณนั้นแห้งเสมอ ใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี
2.การระคายเคืองจากการเสียดสี ใช้ครีมหรือโลชั่นลดการระคายเคือง เช่น ครีม Hydrocortisone หลีกเลี่ยงการเสียดสี และใส่เสื้อผ้าที่ไม่คับแน่น รักษาความสะอาดและความแห้งของบริเวณนั้น
3.การแพ้ (Allergic Contact Dermatitis) หลีกเลี่ยงสารที่แพ้ ใช้ครีมสเตียรอยด์ เช่น Hydrocortisone เพื่อบรรเทาอาการ ใช้ยาแก้แพ้ (antihistamines) เช่น Loratadine
4.การติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส พบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรับยาปฏิชีวนะ หรือ ยาต้านไวรัสตามที่แพทย์สั่ง
วิธีป้องกัน เมื่อรักษาหายดีแล้ว ควรทำเพื่อป้องกันขาหนีบไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำอีก
1.หมั่นรักษาความสะอาดบริเวณจุดซ่อนเร้น หรือ บริเวณขาหนีบอยู่เสมอ ไม่ควรปล่อยให้อับชื้น
2.หลังอาบน้ำควรใช้ผ้าขนหนูสะอาด ๆ เช็ดให้แห้ง
3.ใส่เสื้อผ้าที่โปร่งสบาย ระบายอากาศได้ดี ไม่รัดตัวมาก รวมถึงอย่าใส่กางเกงตัวเดียวซ้ำกันหลาย ๆ วัน
4.ไม่ควรใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่นด้วย เช่น เสื้อผ้า กางเกง ชุดชั้นใน ผ้าขนหนู

















