ความจริงหลังภาพข่าว - การประหารที่ไซง่อน
ความจริงหลังภาพข่าว - การประหารที่ไซง่อน
ภาพที่ทุกคนเห็นในโพสท์นี้คือภาพชายหนุ่มคนหนึ่งลั่นไกปืนสังหารอีกฝ่าย เป็นภาพที่โหดเหี้ยม เป็นภาพสั่นสะเทือนที่ทำให้หลายฝ่ายตาสว่าง โดยเฉพาะคนในสหรัฐอเมริกา ต่างออกมาต่อต้านสงครามเวียดนามกันเป็นจำนวนมาก
เบื้องหลังภาพถ่ายนี้มีเรื่องเล่า
เหตุการณ์นี้มีผู้ถ่ายภาพได้ 2 คน คนแรกเป็นช่างภาพเวียดนามของสถานีโทรทัศน์NBC ได้ภาพเคลื่อนไหว อีกคนเป็นช่างภาพของสำนักข่าวเอพี อดีตนาวิกโยธินในสมรภูมิเกาหลี เขาถ่ายภาพนี้ได้อย่างลงตัว หากช้าไปกว่านี้ ชายหนุ่มที่ถูกยิงจะร่วงกองกับพื้น หากไวกว่านี้จะไม่ทันได้เห็นปฏิกิริยาตอนถูกยิง มันเป็นจังหวะลงตัวที่กระสุนพุ่งเข้าร่างชายที่ถูกยิง ใบหน้าเขาสั่นสะท้านด้วยความเจ็บปวดอย่างฉับพลัน
มันกลายเป็นภาพข่าวที่ได้รับรางวัลพูลิเซอร์ในเวลาต่อมาทันที ภาพนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อ "การประหารที่ไซง่อน"
ผู้ที่ถ่ายภาพนี้คือ Eddie Adams
เบื้องหลังภาพนี้เกิดขึ้นในเมืองไซง่อน (ชื่อใหม่คือโฮจิมินท์ ซิตี้) เกิดขึ้นในวันที่ 1 ก.พ. 1968 ในปฏิบัติการเท็ท หรือการรุกในช่วงวันตรุษญวน ที่กองทัพเวียดนามเหนือบุกเวียดนามใต้ ปะทะกันหลายจุด สร้างความเสียหายให้กับเวียดนามใต้ อเมริกาและชาติพันธมิตรอย่างมาก มันคือปฏิบัติการทหารครั้งใหญ่สุดของเวียดนามเหนือ
หลังปฏิบัติการนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจของเวียดนามใต้จับกุมทหารเวียดกงได้รายหนึ่งชื่อของเขา คือ เหงียน ฟาน เล็ม ยศผู้กอง ถูกนำตัวมาโดยนายพลเหงียน ง็อก โลน วัย 38 ปีซึ่งได้ใช้ปืนลูกโม่ .38 ยิงประหารชีวิตเหงียน ฟาน เล็มในวัย 36 ปีทันที
เหงียน ฟาน เล็ม แต่งชุดพลเรือนเป็นทหารเวียดกงแทรกซึมในเวียดนามใต้ เคยตัดคอฆ่าเจ้าหน้าที่เวียดนามใต้ แม่ของเจ้าหน้าที่วัย 80 ปี ภรรยาของเจ้าหน้าที่และลูกทั้งหก
เขามีส่วนร่วมในฐานะทหารเวียดกงสังหารทหารอเมริกันหลายราย ในสายตานายพลจึงควรถูกประหารยิงทิ้งตรงพื้นถนน
ภาพถ่ายนี้จับจังหวะได้ลงตัว นำไปสู่การต่อต้านสงครามเวียดนาม จังหวะการประหารนั้น นายพลทำเหมือนกับว่าไม่มีนักข่าวช่างภาพอยู่ตรงนั้นเลย
"ผมคิดว่าแค่ขู่ เลยเตรียมกล้องไว้" Adams เล่าในเวลาต่อมา
ถ้าคุณลังเล ถ้าคุณไม่ทำตามหน้าที่ จะไม่มีใครเชื่อฟังคุณ" ท่านนายพลพูดออกมา ทีแรกAdamsมองนายพลว่าเลือดเย็นมาก แต่เมื่อได้ตามถ่ายภาพเขาก็เปลี่ยนความคิดไป
"เขาเป็นผลผลิตของเวียดนามยุคใหม่และในช่วงเวลานั้น"
ด้านEddie Adams แม้จะได้รับรางวัลแต่เขาไม่อยากให้ภาพนี้เป็นภาพแทนของสงครามเวียดนามทั้งหมด เดิมทีเมื่อเอพีขายภาพข่าวให้สื่อระดับโลก ทางบก.ของนิวยอร์ก ไทมส์ได้นำภาพตัดหัวเด็กโดยทหารเวียดกงมาวางประกบด้วยเพื่อนำเสนอให้ครบทุกแง่มุม แต่ภาพดังกล่าวไม่ได้ตกเป็นกระแสดราม่า และถูกลืมอย่างรวดเร็ว กลายเป็นภาพสังหารของ Eddie Adams ได้รับการจดจำไปแทน
ตัวAdams เองนั้น เปรยว่า ถ้าเขาตาย ภาพนี้จะต้องไม่ใช่ภาพผลงานที่ถูกเล่ามากสุดในข่าวมรณกรรมของเขา เพราะตัวเขาเองนั้นก็มีภาพถ่ายดี ๆ มากมาย
ชะตาชีวิตของคนที่เกี่ยวข้องในวันนั้นเกี่ยวโยงกันอย่างน่าเหลือเชื่อ
ฟากเหงียน ฟาน เล็มจบชีวิตไปอย่างเลวร้าย ทางภรรยานั้นทราบข่าวการเสียชีวิตเขาจากหนังสือพิมพ์ที่ส่งมาบ้าน การประหารเหงียน ฟาน เล็มนั้นผิดสนธิสัญญาเจนีวาอย่างยิ่ง
ด้านนายพลเหงียน ล็อก โลน เมื่อลั่นไกเสร็จ เขาหันไปพูดกับAdams ว่า "คนพวกนี้ฆ่าคนของเรา ผมเชื่อว่าพระพุทธเจ้าจะให้อภัยผม หลายเดือนต่อมานายพลของเราได้รับบาดเจ็บถูกยิงด้วยปืนกลในเมืองไซง่อน ช่างภาพออสเตรเลียแบกเขากลับสู่แดนหลัง ไปรักษาตัวที่ออสเตรเลียและต่อไปยังอเมริกา หลังรักษาตัวกลับมาเขาได้รับการเลื่อนยศสูงขึ้น แต่ไม่มีอำนาจ เพราะภาพถ่ายที่เขาลั่นไกนั้น ดังไปทั่วโลกเสียแล้ว
หลังไซง่อนแตก นายพลของเราลี้ภัยไปอเมริกา มีความพยายามของสภาคองเกรสที่จะสอบสวนเขาในฐานะอาชญากรสงคราม ตลอดเวลานั้นเขาแทบจะถูกส่งตัวกลับจากอเมริกา ไม่ได้สัญชาติ เพราะภาพที่เขากระทำ Eddie Adams พยายามช่วยเหลือ จวบจนปธน.คาร์เตอร์ยื่นมือเข้ามายุติเรื่องทั้งมวล ทำให้อดีตนายพลของเรามีชีวิตในอเมริกาต่อไปได้
อดีตนายพลเปิดร้านอาหารอยู่ชานเมืองดีซี ขายเบอร์เกอร์ พิซซ่าและอาหารเวียดนาม โดยในปี 1991 เขาปิดร้านอาหารและเกษียณตัวเอง Adams เล่าว่าตอนไปเยี่ยมก่อนปิดร้าน เขาเห็นว่าที่กำแพงห้องน้ำมีข้อความที่เขียนว่า "พวกเรารู้ว่ามึงเป็นใคร ไอ้...แม่"
อดีตนายพลของเราเสียชีวิตในวันที่ 14 ก.ค. 1998 วัย 67 ปีด้วยโรคมะเร็ง 30 ปีหลังจากเขายิงเหงียน ฟาน เล็ม
หลังการเสียชีวิต Adams ได้ยกย่องว่า “ผู้ชายคนนี้คือวีรบุรุษ อเมริกาควรร้องไห้ให้ ผมเกลียดที่เห็นเขาจากไปในแบบที่ไม่มีใครอื่นรู้อะไรเกี่ยวกับเขาเลย”
ไม่เพียงเท่านั้น Adams ยังเขียนสรรเสริญเขาในนิตยสารไทมส์ไว้ว่า “ท่านนายพลฆ่าเวียดกง ผมฆ่าท่านนายพลด้วยกล้องของผม ภาพถ่ายยังคงเป็นอาวุธที่ทรงพลังสุดในโลก ผู้คนเชื่อมั่นในภาพถ่าย แต่ภาพถ่ายก็โกหกได้ แม้จะปราศจากการจัดภาพ แต่มันก็มีความจริงเพียงครึ่งเดียว สิ่งที่ที่ภาพถ่ายใบนี้ไม่ได้บอกก็คือ คุณจะทำอย่างไรหากคุณเป็นท่านนายพลในช่วงเวลาและสถานที่ตอนนั้น ในวันที่แดดร้อน แล้วคุณจับคนเลวที่พึ่งจะยิงทหารอเมริกัน 1-3 คนมาได้”
Eddie Adams นั้น มีผลงานภาพถ่ายมากมายที่สะท้อนเรื่องราวเหตุการณ์สำคัญของโลก ทั้งสงครามเวียดนามและเรื่องราวอื่น ๆ เขากลับมาอเมริกาในปี 1978 พยายามช่วยเหลือนายพลผู้ลั่นไกตลอดเวลา นอกจากนี้เขาเปิดเวิร์กช็อปสอนช่างภาพหน้าใหม่ ๆ ได้รับรางวัลมากมาย เป็นช่างภาพข่าวในตำนานอีกคนหนึ่งของโลกใบนี้
เขาจากโลกนี้ไปในวันที่ 19 กันยายน 2004 ทิ้งผลงานรางวัลมากมาย ภาพถ่ายทั้งหมดของเขาอุทิศมอบให้กับมหาวิทยาลัยเท็กซัส ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาได้แรงบันดาลใจ
เมื่อAdams จากโลกไป มันเป็นระยะเวลาถัดมา 6 ปีหลังจากนายพลจากโลกไป มันเป็นระยะเวลาถัดมา 36 ปีหลังจากเขาถ่ายภาพใบนั้น มันเป็นระยะเวลาถัดมา 36 ปีหลังจากที่เหงียน ฟาน เลมถูกยิงเสียชีวิต
36 ปีที่ภาพถ่ายใบนั้นถือกำเนิดขึ้น 36 ปีที่มีคนถกเถียงมากมาย 36 ปีที่เรื่องราวหลังภาพถ่ายถูกเล่าขาน
จวบจนถึงทุกวันนี้....
1.ภาพถ่ายของAdams https://www.theguardian.com/…/eddie-adam-photojournalism-sa…
2.https://www.bbc.com/news/world-us-canada-42864421
3.https://www.worldpressphoto.org/per…/detail/1114/eddie-adams
https://www.facebook.com/Oldjournalistsneverdie/photos/pcb.1100719093446847/1100719056780184/?type=3&theater






















